การบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่รับสมัคร 1 พ.ย. 66 - 10 เม.ย. 67
...
คำอธิบายหลักสูตร

การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวหน้ามาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะในการบริหารจัดการข้อมูลในพื้นที่ซึ่งนับวัน “ข้อมูล(data)” ของท้องถิ่นจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการนำข้อมูลมาปรับใช้ในการวางแผนเพื่อการพัฒนา การใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาเฉพาะเรื่องที่จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นมีสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและมีความแม่นยำมากขึ้น เช่น การจัดทำข้อมูลผู้เปราะบางในพื้นที่ การจัดทำข้อมูลพื้นที่ภัยพิบัติของชุมชนที่ต้องอยู่ในพื้นที่ริมน้ำ หรือ การจัดทำข้อมูลแผนที่ภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

การนำใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการข้อมูลเบื้องต้นจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในยุคปัจจุบัน อนึ่งระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ดังกล่าวยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการตัดสินใจและวิเคราะห์ปัญหาในเชิงพื้นที่สามารถนำเข้า ปรับปรุง แก้ไข วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูลเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมนำมาใช้ประโยชน์ในงานด้านต่าง ๆ ของชุมชนท้องถิ่นได้อย่างหลากหลาย อาทิ การจัดการสิ่งแวดล้อม การวางแผนการจัดการภัยพิบัติของชุมชน การวางแผนการจัดการที่ดิน รวมถึงการวางแผนการจัดทำแผนที่ภาษีของของชุมชน เป็นต้น

ดังนั้น การเรียนรู้และการทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักพัฒนาชุมชน ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับงานพัฒนา นักบริหารโครงการที่ทำงานเกี่ยวกับชุมชน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงานด้านพัฒนาพื้นที่ในประเด็นอื่น ๆ ที่โดยพื้นฐานแล้วต้องทำงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการข้อมูลชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น จะต้องเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในงานของตนเองในยุคปัจจุบัน สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้ดำเนินการให้มีการเปิดอบรมหลักสูตรระยะสั้น “การบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ขึ้น เพื่อให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับพัฒนาชุมชนท้องถิ่นดังกล่าว ได้เรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานและการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในงานพัฒนาดังกล่าว โดยหวังว่าผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรระยะสั้นนี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป

วัตถุประสงค์
  • เพื่อพัฒนาทักษะด้านการจัดการ/จัดเก็บข้อมูลชุมชนด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล
  • เพื่อพัฒนาทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนด้วยการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)
ระยะเวลาของหลักสูตร

หลักสูตรอบรม 24 ชั่วโมง (3 วัน)

ช่วงวันรับสมัคร

1 พ.ย. 66 - 10 เม.ย. 67

ช่วงเวลาเรียน

วันที่ 22 - 24 เม.ย. 2567
เวลา 8.30 - 16.30 น.

กลุ่มเป้าหมาย
  • บุคลภายนอก เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่จัดทำแผนที่ภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคลทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์(GIS)ในการทำงานด้านการบริหารจัดการข้อมูลชุมชนท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา จำนวน 50 คน/รุ่น
รูปแบบกิจกรรม
  • onsite ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
ขอบข่ายเนื้อหา
  • ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการบริหารจัดการข้อมูลชุมชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)
  • ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้งานโปรแกรมระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ QGIS
  • การใช้งานโปรแกรม QGIS เพื่อวิเคราะห์และจัดการข้อมูลชุมชน
  • การจัดทำแผนที่ชุมชนด้วยโปรแกรม QGIS
การวัดผลประเมินผล
  • ผู้เข้าร่วมอบรมต้องเข้าร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของเวลาเรียน จึงจะถือว่าผ่านการอบรม
  • ผู้เข้าร่วมอบรม ต้องผ่านเกณฑ์การทำ workshop ร้อยละ 80 จึงจะถือว่าผ่านการอบรม
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
  • นักพัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับงานพัฒนาชุมชน หรือเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เกี่ยวการจัดทำแผนที่ภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีทักษะด้านการจัดการ/จัดเก็บข้อมูลชุมชนด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงมีทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนด้วยการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)
  • สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มีหลักสูตรระยะสั้นในการพัฒนาศักยภาพนักพัฒนาชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงขยายเครือข่ายความร่วมมือการทำงานด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์(GIS) ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครปฐม และภาคตะวันตก
ดาวน์โหลดเอกสาร
สอบถามเพิ่มเติม
  • อาจารย์ผู้ประสานงาน : อ.พีรพัฒน์ พันศิริ
    084-8787542
ค่าลงทะเบียน 4,000 บาท/คน สอบถามเพิ่มเติม ลงทะเบียน